เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
[526] คำว่า สงัด อธิบายว่า แม้หากเสนาสนะจะอยู่ในที่ใกล้ แต่
เสนาสนะนั้นไม่พลุกพล่านด้วยเหล่าคฤหัสถ์และบรรพชิต เพราะฉะนั้น เสนาสนะนั้น
ชื่อว่าสงัด แม้หากเสนาสนะจะอยู่ในที่ที่ห่างไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่พลุกพล่านด้วย
เหล่าคฤหัสถ์และบรรพชิต เพราะฉะนั้น เสนาสนะนั้นก็ชื่อว่าสงัด
[527] คำว่า เสนาสนะ อธิบายว่า เสนาสนะ คือ เตียง ตั่ง ฟูก หมอน
วิหาร เพิง ปราสาท ป้อม โรงกลม ที่เร้นลับ ถ้ำ โคนไม้ พุ่มไผ่ หรือสถานที่
ที่ภิกษุยับยั้งอยู่ ที่ทั้งหมดนี้ชื่อว่าเสนาสนะ
[528] คำว่า อาศัยเสนาสนะที่สงัดอยู่ อธิบายว่า อาศัย อาศัยอยู่ด้วยดี
พักอยู่ เข้าไปพักอยู่ พักอาศัยเสนาสนะที่สงัดนี้อยู่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อาศัย
เสนาสนะที่สงัดอยู่
[529] คำว่า ป่า อธิบายว่า สถานที่ออกไปนอกเขตเมืองทั้งหมด นี้ชื่อว่าป่า
[530] คำว่า โคนไม้ อธิบายว่า รุกขมูลคือโคนไม้ บรรพตคือภูเขากันทระ
คือซอกเขา คิริคุหาคือถ้ำในภูเขา สุสานคือป่าช้า อัพโภกาสคือที่แจ้ง ปลาลปุญชะ
คือกองฟาง
[531] คำว่า ดง นี้ เป็นชื่อของเสนาสนะที่ห่างไกล
คำว่า ดง นี้ เป็นชื่อของเสนาสนะที่มีป่าทึบ
คำว่า ดง นี้ เป็นชื่อของเสนาสนะที่น่าหวาดกลัว
คำว่า ดง นี้ เป็นชื่อของเสนาสนะที่น่ากลัวจนขนพองสยองเกล้า
คำว่า ดง นี้ เป็นชื่อของเสนาสนะที่ตั้งอยู่ปลายแดน
คำว่า ดง นี้ เป็นชื่อของเสนาสนะที่ไม่อยู่ใกล้มนุษย์
คำว่า ดง นี้ เป็นชื่อของเสนาสนะที่อยู่ได้ยาก
[532] คำว่า มีเสียงน้อย อธิบายว่า แม้หากเสนาสนะจะอยู่ในที่ใกล้ แต่
เสนาสนะนั้นไม่พลุกพล่านด้วยเหล่าคฤหัสถ์และบรรพชิต เพราะฉะนั้น เสนาสนะนั้น
จึงชื่อว่ามีเสียงน้อย แม้หากเสนาสนะจะอยู่ในที่ห่างไกล แต่เสนาสนะนั้นไม่พลุก
พล่านด้วยเหล่าคฤหัสถ์และบรรพชิต เพราะฉะนั้น เสนาสนะนั้นก็ชื่อว่ามีเสียงน้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :394 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
[533] คำว่า มีเสียงอึกทึกน้อย อธิบายว่า เสนาสนะใดมีเสียงน้อย
เสนาสนะนั้นชื่อว่ามีเสียงอึกทึกน้อย เสนาสนะใดมีเสียงอึกทึกน้อย เสนาสนะนั้น
ชื่อว่าไม่มีคนสัญจรไปมา เสนาสนะใดไม่มีผู้คนสัญจรไปมา เสนาสนะนั้นชื่อว่าเป็น
สถานที่ที่มนุษย์แอบทำการได้1 เสนาสนะใดเป็นสถานที่ที่มนุษย์แอบทำการได้
เสนาสนะนั้นก็ชื่อว่าสมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่
[534] คำว่า เป็นผู้อยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง อธิบายว่า เป็น
ผู้อยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง
[535] คำว่า นั่งคู้บัลลังก์ อธิบายว่า เป็นผู้นั่งขัดสมาธิ
[536] คำว่า ตั้งกายตรง อธิบายว่า กายที่ดำรงไว้ ตั้งไว้ ย่อมเป็นกายตรง
[537] ในคำว่า ดำรงสติมั่นมุ่งเฉพาะกรรมฐาน นั้น สติ เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ นี้เรียกว่า สติ
สตินี้เป็นอันภิกษุดำรงไว้มั่นแล้ว ตั้งไว้ดีแล้วที่ปลายจมูก หรือที่นิมิตเหนือ
ริมฝีปาก เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ดำรงสติมั่นมุ่งเฉพาะกรรมฐาน
[538] ในคำว่า ละอภิชฌาในโลกได้ นั้น อภิชฌา เป็นไฉน
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ ความกำหนัดนักแห่งจิต นี้เรียกว่า
อภิชฌา
โลก เป็นไฉน
อุปาทานขันธ์ 5 ชื่อว่าโลก นี้เรียกว่า โลก
อภิชฌานี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้พินาศไป
ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้วในโลกนี้
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ละอภิชฌาในโลกได้
[539] ในคำว่า มีจิตปราศจากอภิชฌา นั้น จิต เป็นไฉน
จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่เหมาะสมกัน นี้เรียกว่า จิต

เชิงอรรถ :
1 อภิ.วิ.อ. 533/394

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :395 }